เชียงใหม่ ระดมสมองทุกภาคส่วน วางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ

 

จังหวัดเชียงใหม่ ระดมสมองทุกภาคส่วน วางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตั้งเป้าลดไฟที่ไร้การควบคุมให้ได้ทั้งหมด จากปริมาณเชื้อเพลิงที่เสี่ยงเผาไหม้ถึง 14 ล้านตัน

          วันนี้ (20 พ.ย. 66) ที่ โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซต์ สปา รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างความร่วมมือที่เหมาะสมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่

          นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ไม่ได้พึ่งพาการทำงานของส่วนราชการเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆ ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเป้าหมายสุดท้าย คือ การไม่ให้มีการเผาเกิดขึ้นเลยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือหากจะมีการเผาก็ต้องมีน้อยที่สุด และจะต้องเป็นการเผาที่สามารถควบคุมได้และเป็นไปอย่างมีระบบ โดยในปีนี้ได้วิเคราะห์ข้อมูลแล้วจัดแบ่งพื้นที่บริหารจัดการไฟป่าออกเป็น 7 กลุ่มป่า ภายใต้การผนึกกำลังทั้งชุมชน องค์ปกครองท้องถิ่น หน่วยงานอุทยาน เขตรักษาพันธุ์ฯ และปาไม้ ฝ่ายปกครอง วิชาการ และประชาสังคม

          ด้าน นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับชาวบ้านของสภาลมหายใจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ได้เรียนรู้จากสิ่งต่างๆ มามากมาย โดยทราบว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ป่าไม้กว่า 9 ล้านไร่ แบ่งเป็นป่าที่ไม่ผลัดใบ 2 ล้านไร่ และป่าผลัดใบ 7 ล้านไร่ ซึ่งในส่วนที่เป็นป่าผลัดใบจะมีอัตราทิ้งใบ 2 ตันต่อไร่ต่อปี ทำให้มีเชื้อเพลิงที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้ถึง 14 ล้านตันต่อปี ขณะเดียวกันมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่ากว่า 1,000 หมู่บ้าน ซึ่งปัญหาหลักที่เกิดขึ้น คือ การเกิดไฟลุกลามแบบไร้การควบคุมเป็นจำนวนมาก และหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ดังนั้น ในการระดมความเห็นร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ แล้ว จึงได้ข้อสรุปเป้าหมายร่วมกันว่า “จะต้องลดไฟที่ไร้การควบคุมลงให้ได้ทั้งหมด” นี่คือโจทย์ที่มีความท้าท้ายอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาไฟป่าในปีนี้ โดยจะใช้ประโยชน์จากการใช้แอปพลิเคชั่น FireD มาใช้ควบคู่ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้ได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งขณะนี้คณะทำงานกำลังเร่งดำเนินการจัดทำแผนป้องกันและบริหารเชื้อเพลิงแบบควบคุมได้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar