SCG นำหญ้าเนเปียร์ พืชพลังงานสูง มาเป็นพืชทางเลือกให้เกษตรกรปลูกทดแทนข้าวโพด แก้ปัญหาการเผาในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม

วันนี้ (7 พ.ค. 67) ที่ จุดรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ฯ บ้านหนองแหย่ง ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่, ดร.ภานุวัฒน์ คำใสย ผู้จัดการด้านพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด และผู้แทนจากบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ได้ร่วมกันเปิดกิจกรรมการขยายผลโครงการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระบบนิเวศการลงทุนพืชพลังงานฯ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (ข้าวโพด) ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

โดยกิจกรรมดังกล่าว เป็นการขยายผลงานวิจัยร่วมกันของ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (SCG ) กับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่ได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จที่จังหวัดสระบุรี และขยายผลมายังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อต้องการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการเผา ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกหญ้าเนเปียร์ แทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากส่วนใหญ่พื้นที่อำเภอแม่แจ่มจะทำการเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว ภายหลังการเก็บเกี่ยวจะมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงทำให้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟ และเป็นต้นเหตุของการเกิดฝุ่นละออง PM2.5

ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า หญ้าเนเปียร์เป็นพืชพลังงานที่มีศักยภาพสูง สามารถปลูกได้ง่าย มีขอบระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่สั้นเพียง 3-4 เดือน ต่างกับการปลูกข้าวโพดที่ใช้ระยะเวลาปลูกนาน จึงทำให้สามารถคืนทุนและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เร็วขึ้น ประกอบกับเมื่อปลูกแล้วจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่องนาน 10-15 ปี จึงเป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน และที่สำคัญไม่ต้องเผาพื้นที่เกษตรเพื่อทำการเพาะปลูกบ่อยครั้ง ถือเป็นการปลูกพืชแบบไร้ไฟ และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดรับกับนโยบายของจังหวัดเชียงใหม่

ด้าน ดร.ภานุวัฒน์ คำใสย ในฐานะผู้แทนของ SCG กล่าวว่า ทาง SCG มีนโยบายที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อน โดยหนึ่งในนั้นคือการหันมาใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงแทนการใช้ถ่านหินลิกไนต์ในการผลิตปูนซีเมนต์ และในอนาคตจะเปลี่ยนให้ได้ถึง 100% ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง รวมถึง SCG มีความต้องการพืชพลังงานเป็นจำนวนมาก เช่น ที่สระบุรีมีความต้องการหญ้าเนเปียร์กว่า 1.7 ล้านตันต่อปี ขณะที่ลำปางก็ได้เริ่มทดลองใช้และมีความต้องการประมาณเดือนละ 1,500 ตัน ซึ่งปัจจุบัน SCG รับซื้อหญ้าเนเปียร์ที่มีอัตราความชื้นไม่เกิน 35 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ตันละ 1,800-2,200 บาท จึงทำให้เป็นที่สนใจของเกษตรกร ในวันนี้จึงได้นำหญ้าเนเปียร์มาขยายผลปลูกในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรอำเภอแม่แจ่ม

ด้าน นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การได้รับความร่วมมือจาก บพท. และ SCG ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อจังหวัดเชียงใหม่ เพราะสามารถช่วยลดปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟของอำเภอแม่แจ่มได้เป็นอย่างดี แม้ว่าปัญหาในเรื่องต้นทุนค่าขนส่งจะเป็นปัญหาหลัก แต่ทาง SCG ก็มีความยินดีที่จะให้การสนับสนุน โดยมองถึงหลักธรรมาภิบาลและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลัก ส่วนการจะนำหญ้าเนเปียร์มาปลูกทดแทนการปลูกข้าวโพดในอำเภอแม่แจ่มนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้ได้ก่อน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้วางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในอำเภอแม่แจ่ม สำหรับรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเพาะปลูกในพื้นที่ที่ได้สิทธิที่อยู่อาศัยทำกินจาก คทช. แล้ว โดยใน 5 ปีต่อจากนี้ จะมีพื้นที่ที่มีน้ำเข้าถึงกว่า 1 แสนไร่


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar